ลูทีนเป็นสารอาหารในกลุ่มเดียวกับเบต้าแคโรทีนและวิตามินเอที่พบได้มากในผักและผลไม้หลายชนิด เช่น ผักปวยเล้ง บร็อคโคลี่ คะน้า ข้าวโพด กีวี่ องุ่น ส้ม เป็นต้น เชื่อกันว่าการกินผักผลไม้เหล่านี้จะช่วยให้ได้รับประโยชน์จากลูทีนนานาประการ

  นอกจากนี้ หลายคนยังนิยมกินอาหารเสริมหรือวิตามินรวมที่มีลูทีนเป็นส่วนประกอบเพื่อสรรพคุณทางยา ซึ่งปรากฏผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ด้านสุขภาพของลูทีนในแง่มุมต่าง ๆ ดังนี้ บำรุงสายตา เนื่องจากลูทีนเป็นสารแคโรทีนอยด์ชนิดสำคัญที่มีอยู่ในจอประสาทตาของมนุษย์ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเม็ดสีจอประสาทตา มีหน้าที่กรองแสงและป้องกันดวงตาจากแสงแดดหรือคลื่นแสงพลังงานสูงอย่างรังสีอัลตราไวโอเลต

  นักวิจัยหลายคนจึงเชื่อว่าเป็นสารอาหารที่ช่วยเสริมสร้างการมองเห็นและบำรุงสุขภาพดวงตา โดยเฉพาะแก้วตาและจอประสาทตา งานวิจัยชิ้นหนึ่งพิสูจน์ข้อสันนิษฐานนี้โดยแบ่งผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมในระยะแรกออกเป็น 4 กลุ่ม แต่ละกลุ่มได้รับอาหารเสริมแตกต่างกันไปเป็นระยะเวลา 2 ปี ได้แก่ ลูทีน 10 มิลลิกรัม ลูทีน 20 มิลลิกรัม ลูทีนและซีแซนทีน หรือไม่ได้กินอาหารเสริมชนิดใดทั้งสิ้น ผลการตรวจสุขภาพดวงตาหลังจากนั้นพบว่าผู้ที่กินลูทีนทั้ง 2 กลุ่ม มีจำนวนเม็ดสีในจอประสาทตาเพิ่มขึ้น รวมทั้งจอตามีความไวต่อแสงมากขึ้นพอ ๆ กัน การบริโภคอาหารเสริมลูทีนวันละ 10 มิลลิกรัม ติดต่อกันเป็นเวลานานจึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งของการรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมในระยะแรก

  การศึกษาทางวิทยาศาสตร์บางชิ้นยังชี้ให้เห็นว่าปริมาณลูทีนและซีแซนทีนในดวงตาส่งผลต่อประสิทธิภาพการมองเห็นของคนเรา การได้รับสารอาหารดังกล่าวในปริมาณมากจึงอาจช่วยให้มองเห็นได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในที่มืดสลัว ดังปรากฏในงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ให้คนขับรถที่มีสุขภาพดีกินอาหารเสริมลูทีนวันละ 20 มิลลิกรัมแล้ววัดปริมาณเม็ดสีในจอตาและประสิทธิภาพในการมองเห็น

  ผลลัพธ์แสดงให้เห็นว่ากลุ่มที่กินลูทีนมีระดับเม็ดสีในจอประสาทตามากขึ้นและมีคะแนนการประเมินความคมชัดและความสว่างในการมองเห็นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้กินลูทีน

  จึงกล่าวได้ว่าลูทีนอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็นในที่มืดและส่งผลให้ขับรถตอนกลางคืนได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การศึกษาในด้านนี้โดยเฉพาะเจาะจงกับลูทีนนั้นถือว่ายังมีจำนวนน้อย งานวิจัยหลายชิ้นทดลองโดยใช้อาหารเสริมลูทีนผสมกับอาหารเสริมชนิดอื่นที่อาจมีส่วนช่วยเสริมสร้างสุขภาพดวงตาเช่นกัน เช่น วิตามินซี วิตามินอี เป็นต้น

  ปัจจุบันจึงไม่อาจระบุได้อย่างชัดเจนว่าลูทีนมีสรรพคุณช่วยในการมองเห็นและบำรุงดวงตามากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ การบริโภคอาหารเสริมลูทีนร่วมกับโอเมก้า 3 อาจไม่ได้ช่วยบรรเทาอาการของโรคจอประสาทตาเสื่อม ดังปรากฏในงานวิจัยชิ้นหนึ่งว่าการกินอาหารเสริมลูทีนและซีแซนทีนร่วมกับกรดไขมันโอเมก้า 3 ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงต่อการกำเริบของโรคจอประสาทตาเสื่อมแต่อย่างใด

  เช่นเดียวกับงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่พบว่าการกินอาหารเสริมลูทีนร่วมกับกรดโอเมก้า 3 ติดต่อกัน 6 เดือนไม่ช่วยให้ผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมมาก่อนมีการมองเห็นที่ดีขึ้น โดยสันนิษฐานว่ากรดโอเมก้า 3 จะไปลดประสิทธิภาพของลูทีนในการเสริมสร้างการมองเห็นและการบรรเทาอาการของโรคดังกล่าว